กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไม่ใช่ปัญหาเล็ก

รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไม่ใช่ปัญหาเล็ก
วันจันทร์ ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 06.42 น.
ปัสสาวะแสบขัด รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ อั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ อาการเหล่านี้มักถูกเข้าใจว่าเป็นอาการของกระเพาะปัสสาวะ ถ้าใครเคยมีอาการดังกล่าว จะพบว่าอาการนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก อาจจะไม่ได้เป็นโรคอันตรายมากก็จริง แต่ก็ก่อความเจ็บปวดและรำคาญ รวมถึงทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิต และหากกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงมากขึ้น
อาการทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นอาการที่พบบ่อย พบได้ทุกวัย พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทางเดินปัสสาวะในเพศหญิงสั้นกว่าและใกล้กับทวารหนัก ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากกว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ การกลั้นปัสสาวะนานๆ และการรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศซึ่งเป็นที่อยู่ของท่อปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง
เหตุผลที่การกลั้นปัสสาวะทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ยิ่งกลั้นปัสสาวะไว้นานเท่าไร แบคทีเรียในปัสสาวะที่เรากลั้นไว้ก็จะมีเวลาเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนก่อโรคได้ในที่สุด ส่วนเรื่องการรักษาความสะอาด เป็นปัญหาของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ที่พบว่ามักทำผิดกันบ่อย คือการเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังจากทำธุระเสร็จ การเช็ดจากด้านหลังย้อนมาข้างหน้าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักปนเปื้อนไปที่ท่อปัสสาวะ
ดังนั้น การเช็ดที่ถูกต้องก็คือต้องเช็ดจากด้านหน้าไปทางด้านหลัง ซึ่งทั้งสองเรื่องที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นสามารถแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดโรคหรือการกลับเป็นโรคซ้ำด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ อย่ากลั้นปัสสาวะนานเกินไปเมื่อปวดปัสสาวะควรรีบเข้าห้องน้ำ และหลังจากเสร็จธุระต้องทำความสะอาดอย่างถูกต้องจากด้านหน้าไปด้านหลัง
นอกจาก 2 สาเหตุนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น อายุมากขึ้น ในเพศหญิงฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงตามอายุ ทำให้ช่องคลอดแห้งและระคายเคืองง่าย เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนในเพศชายต่อมลูกหมากที่โตขึ้นก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคเรื้อรังบางชนิดที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เช่น เบาหวาน ก็เป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ อาการหรือภาวะที่ทำให้เกิดปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้น เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวน้อยกว่าปกติ จะเห็นได้ว่ากระเพาะปัสสาวะอักเสบเมื่อเกิดขึ้นอาจบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพนอกเหนือจากเรื่องของทางเดินปัสสาวะที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมจึงจะป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้
การรักษา เมื่อมีปัญหาเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แน่นอนว่าก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่เป็นครั้งแรกอาการไม่รุนแรง จำนวนวันที่ต้องใช้ยาอาจจะอยู่ที่ 3-5 วัน แล้วแต่ชนิดของยา ส่วนในรายที่เป็นซ้ำหรืออาการค่อนข้างรุนแรง เช่น มีไข้หรือมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย ปัสสาวะขุ่น ปวดหน่วงรุนแรงเวลาปัสสาวะ หรือมีเลือดออกในปัสสาวะ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการใช้ยาปฏิชีวนะ 7-10 วัน กรณีที่เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเข้าข่ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะขนาดน้อยแต่ระยะเวลาที่ใช้ยายาวนานมากขึ้นอาจถึง 6 เดือนเพื่อให้หายขาด
อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยา จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม เพราะปัจจุบันพบปัญหาเชื้อดื้อยาค่อนข้างมาก บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยที่เคยเป็นและได้รับยาตัวใดตัวหนึ่งมาก่อนหน้าแล้วรู้สึกว่ากินยาแล้วอาการดีขึ้น เมื่อกลับมาเป็นซ้ำ ก็ไปร้านยาเพื่อหาซื้อยาตัวเดิม ซึ่งอาจจะใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ บางครั้งเมื่อพิจารณาแล้วอาจจะไม่ได้ผล หรือเมื่อซักประวัติแล้วพบว่าผู้ป่วยเป็นซ้ำบ่อยๆ เภสัชกรจึงไม่จ่ายยาให้ แต่ให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพราะจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปเพาะเชื้อเพื่อดูว่าเป็นเชื้อชนิดใด ไวต่อยาใด เพื่อจะได้เลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดกับเชื้อก่อโรคของผู้ป่วยแต่ละราย
ในส่วนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงและความถี่ของการเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นอกจากไม่กลั้นปัสสาวะ และทำความสะอาดอวัยะเพศอย่างถูกต้องแล้ว การดื่มน้ำมากเพียงพออย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อให้มีการถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งมากพอเพื่อกำจัดเชื้อที่สะสมอยู่ในทางเดินปัสสาวะก็สำคัญมาก
สำหรับในเพศหญิงควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มความระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ เช่น การใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดเฉพาะที่มากเกินไป อาจทำให้เสียสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นในบริเวณและเพิ่มโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ ในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม รวมทั้งตรวจหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อได้รับการรักษาที่ตรงประเด็น
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า