ซีเซียม-137 (Cesium-137) ธาตุอันตราย แต่ควบคุมได้

รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : ซีเซียม-137 (Cesium-137) ธาตุอันตราย แต่ควบคุมได้
ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจจะตกใจและตื่นตูมกับข่าวซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงงาน แล้วมีข่าวว่าถูกนำไปถูกหลอมในเตาเผาขยะ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีตัวนี้ แล้วจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาวะของผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรัศมีอันตราย
ถึงแม้ว่าข่าวจะออกมาแล้วว่าปริมาณธาตุที่กำลังเป็นปัญหาไม่น่าจะก่อปัญหาร้ายแรงใดๆ ต่อสังคม แต่หลายคนก็ยังหวั่นใจ เพราะไม่เชื่อในเนื้อข่าว พูดถึงสารกัมมันตรังสี เรานึกถึงระเบิดปรมาณู หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ดูแล้วไกลตัวจากคนไทยมาก แต่เมื่อมีข่าวซีเซียม-137 หายไป ทำให้คนไทยอาจจะนึกไปไกลว่าสารกัมมันตรังสีอาจจะอยู่แถวๆ บ้านเรานี่เอง
ความจริง สารกัมมันตรังสีเหล่านี้มีประโยชน์หลายประการ คนทั่วไปน่าจะคุ้นเคย และมีโอกาสเข้าถึงมากที่สุดคือการใช้ทางการแพทย์ ในการวินิจฉัยโรค เช่น การเอกซเรย์การฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็ง หรือเนื้องอกอื่นๆ นอกจากทางการแพทย์แล้ว ก็ใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในเครื่องวัดระดับ วัดความหนา ขุดเจาะ หยั่งความลึกของธรณี เป็นต้น
ในหน่วยงานที่มีธาตุอันตรายเหล่านี้ไว้ครอบครองต้องมีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่รัดกุมเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับพนักงาน ผู้รับบริการ ตลอดจนชุมชน และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เรื่องไม่คาดฝันเกิดได้เสมอ ข่าวซีเซียม-137 ถูกนำไปหลอมในเตาเผาขยะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่น่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มมาตรการป้องกันอันตรายและเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลธาตุตัวนี้ให้มากยิ่งขึ้น
ส่วนชาวบ้านอย่างเราก็ได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ และการจัดการเมื่อมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลอันดับแรกคือไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุ แล้วติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เมื่อสงสัยว่าจะเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะไปตรวจสอบความรุนแรง และผลกระทบเพื่อกำหนดแนวทางรับมือที่เหมาะสม หากเราสงสัยว่าเข้าข่ายได้รับสัมผัสสารกัมมันตรังสีโดยตรง ก็ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
แต่หากเราอยู่อาศัยในเขตที่ประกาศว่ามีความเสี่ยง ก็ต้องไปลงทะเบียน เพื่อตรวจติดตามผลกระทบต่อสุขภาพตามระยะเวลาที่กำหนด ตัวอย่างเช่น กรณีซีเซียม-137 ครั้งนี้หลังจากสำรวจและประเมินแล้ว มีมาตรการให้ติดตามผลต่อสุขภาพของพนักงานในโรงงานและประชาชนที่อยู่อาศัยในรัศมี5-10 ตารางกิโลเมตร ทุก 6 เดือน เป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี
จากกรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ได้รับสัมผัสสารนี้ปริมาณมากจนเกิดอาการผิดปกติเฉียบพลันกับระบบต่างๆ ของร่างกายหลายระบบ เช่น มีความผิดปกติในระบบเลือดจากการกดไขกระดูก ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ การได้รับรังสีจากซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกายสะสมไปวันละเล็กละน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิความผิดปกติระดับเซลล์ และอาจจะเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม แล้วพัฒนาไปเป็นมะเร็งในอนาคต
ขณะนี้สื่อต่างๆ ยังกล่าวถึง ยาปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) ซึ่งเป็นยาต้านพิษซีเซียม รวมถึงซีเซียม-137 ด้วย เมื่อผู้ป่วยตรวจพบว่ามีซีเซียม-137 ในร่างกาย หรือคาดว่าได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยควรได้รับยาปรัสเซียนบลู
ปกติเมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย ร่างกายเราจะขับซีเซียม-137 ออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่จะใช้เวลานานมาก โดยค่าครึ่งชีวิตของซีเซียม-137 ในร่างกายนานมากกว่า 100 วัน ซีเซียม-137 ในร่างกายจะขับออกมาที่ลำไส้พร้อมที่จะกำจัดออกจากร่างกาย แต่ปรากฏว่าซีเซียม-137 สามารถถูกดูดซึมกลับสู่กระแสเลือดได้อีก จึงทำให้ ซีเซียม-137อยู่ในร่างกายได้นาน
ยาปรัสเซียนบลูจะช่วยเร่งการขับซีเซียม-137 ออกจากร่างกาย โดยแพทย์จะให้ยาปรัสเซียนบลูแก่ผู้ป่วยโดยการรับประทานยานี้จะไม่ถูกดูดซึม แต่จะอยู่ในลำไส้ คอยดัดจับซีเซียม-137 ที่ถูกหลั่งมาที่ลำไส้ แล้วขับออกทางอุจจาระ ซึ่งการให้ยาต้องให้ในปริมาณสูง และติดต่อนานถึง 30 วัน หรือนานกว่านั้น โดยแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาอื่นๆ ตามอาการ และตามระบบร่างกายที่พบความผิดปกติ
ส่วนยาล้างพิษ ยารักษา หรือยาป้องกันพิษซีเซียม-137อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ ที่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งอันเกิดจากสารกัมมันตรังสีนั่นยังไม่มีในขณะนี้
คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงคือ ต้องไปลงทะเบียนรับการตรวจติดตามสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ติดตามข่าวสารการติดตามการปนเปื้อนของสารในพื้นที่ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติทางสุขภาพที่เกิดขึ้น เมื่อมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วนที่สุด คือ อ่อนเพลียต่อเนื่องจนผิดปกติ ติดเชื้อบ่อย มีเลือดออกผิดปกติ เพราะเป็นอาการที่อาจเกิดจากการสร้างเม็ดเลือดผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง และที่สำคัญคืออย่าไปซื้อหายาปรัสเซียนบลู หรือสีที่มีองค์ประกอบของปรัสเซียนบลูมาใช้เอง ย้ำว่าปรัสเซียนบลูที่ใช้รักษา ต้องเป็นยาเท่านั้น มิฉะนั้น ท่านอาจได้รับอันตรายจากสารพิษอื่นเข้าไปอีกการใช้ยานี้ต้องได้รับการดูแลแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า