ตู้เย็นไม่ใช่ตู้ยา อย่าเอายาทั้งหมดใส่ตู้เย็น


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : ตู้เย็นไม่ใช่ตู้ยา อย่าเอายาทั้งหมดใส่ตู้เย็น
วันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 07.50 น.

    เมื่อคุณได้รับยามาแล้ว ต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดและที่สำคัญคือต้องเก็บยาให้ดีด้วย เพราะหากเก็บรักษายาไม่ดีจะส่งผลเสียคือยาเสื่อมคุณภาพ หรือออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ อย่าลืมว่ายาเสื่อมคุณภาพอาจไม่ต่างไปจากสารพิษ กินเข้าไปแล้ว โรคก็ไม่หาย แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคืออันตราย

    ยาบางชนิดไม่คงตัวเมื่อเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง จึงต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ยาพวกนี้เภสัชกรจะย้ำว่าต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อดูฉลากยาจะระบุชัดเจน ว่าต้องเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

    ตู้เย็นในปัจจุบันออกแบบช่องเก็บความเย็นไว้หลากหลาย แต่ละจุดให้อุณหภูมิต่างกัน เมื่อฉลากยาระบุให้เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หมายถึงต้องช่องแช่เย็นปกติที่ไม่เย็นเกินไป(ไม่ใช่ช่องทำน้ำแข็ง) ตู้เย็นบางยี่ห้อมีช่องใต้ห้องแช่แข็ง ซึ่งอาจให้อุณหภูมิต่ำเกินไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือห้ามเก็บยาในห้องแช่แข็งเป็นอันขาด ถ้าคุณเก็บยาที่ระบุให้เก็บในช่วง 2-8 องศาเซลเซียสไว้ในช่องแช่แข็ง จะทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพในการรักษาและอาจทำให้ไม่ปลอดภัยเมื่อนำไปใช้

    ส่วนยาที่ระบุให้เก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หมายถึงการเก็บในห้องทั่วไปที่ไม่ร้อนจัด แต่บางคนอาจคิดว่าการนำยาทุกชนิดไปเก็บไว้ในตู้เย็นจะช่วยถนอมยา ไม่ให้ยาเสีย แต่ที่จริงแล้วเมื่อยาอยู่ในอุณหภูมิต่ำจะทำให้มีโอกาสเสียสภาพเร็วขึ้น และกระทบต่อคุณภาพยา เช่นยาหยอดตาบางประเภท หรือยาพ่นที่ระบุให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะทำให้อนุภาคของตัวยามีขนาดเปลี่ยนแปลงไป ส่วนยาน้ำบางชนิดถ้าอยู่ในตู้เย็น ตัวยาสำคัญจะตกตะกอน ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพการรักษา

    การเก็บยาในตู้เย็นควรเป็นตำแหน่งที่อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ (ช่วง 2-8 องศาเซลเซียส) ไม่แนะนำให้เก็บยาไว้ที่ประตูตู้เย็น ถึงแม้ว่าเป็นตำแหน่งที่สะดวกในการหยิบยามาใช้ประตูตู้เย็นเป็นตำแหน่งที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงง่ายเมื่อมีการเปิด-ปิดตู้เย็น จึงแนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นด้านใน และควรหากล่อง หรือภาชนะใส่ยาที่เก็บในตู้เย็น แทนที่จะวางปะปนไปกับอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้เป็นระเบียบ และง่ายต่อการหยิบใช้

    อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ถึงแม้จะเก็บยาไว้ในตู้เย็นตามฉลากแล้ว ยาก็ต้องหมดอายุตามกำหนด เช่น ยาหยอดตาที่เปิดแล้ว อายุจะเหลือเพียง 1 เดือนหลังเปิดใช้ เนื่องจากยามีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคจึงเป็นอันตรายเมื่อนำไปใช้ เมื่อคุณเปิดใช้ยาต้องจดวันเปิดใช้ไว้ที่กล่องยา หรือขวดยา และเมื่อผ่านไป 30 วัน ควรทิ้งไป

    ส่วนยาน้ำของเด็กประเภทผงแห้งที่ต้องผสมน้ำให้เป็นของเหลวก่อนใช้ก็ยิ่งต้องระวังมากขึ้น เพราะเป็นยาปฏิชีวนะที่ต้องกินจนหมด หากเผลอลืมกินไม่หมด ยาที่เหลืออยู่ก็มีอายุแค่ประมาณ 7-14 วัน แล้วแต่ชนิดของยา โดยให้ดูที่ฉลากหรือเอกสารกำกับยาเป็นสำคัญ ยาที่อายุเกินกำหนดก็คือยาเสื่อมสภาพย้ำว่าห้ามใช้เด็ดขาด

    เมื่อเราเจ็บป่วยและต้องใช้ยา ต้องใช้ยาให้ถูกต้อง และต้องเก็บยาให้ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้เราได้รับประสิทธิผลการรักษา และได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ย้ำว่ายาทุกชนิดไม่ควรนำไปไว้ในตู้เย็น และต้องไม่แช่ยาไว้ในช่องแช่แข็งเป็นอันขาด

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/