ถึงรู้ว่าเหล้า เบียร์ ไวน์มีผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก็อดใจไม่ได้


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : ถึงรู้ว่าเหล้า เบียร์ ไวน์มีผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก็อดใจไม่ได้
วันจันทร์ ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ และไวน์ถูกยอมรับโดยคนไม่น้อยว่าช่วยสร้างบรรยากาศและสีสันในการพบปะสังสรรค์มีประวัติกล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่บนโลกใบนี้มานานนับพันๆ ปีแล้ว ดังนั้นคนจำนวนไม่น้อยกับเครื่องดื่มชนิดนี้จึงใกล้ชิดกันมาก

    แต่ก็มิใช่ว่าคนที่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์จะไม่รู้ว่าหากดื่มมากๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ถึงรู้ ก็ยังมีคนดื่มต่อไป

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์มากเกินความพอดีทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหลายประการและมีผลโดยตรงกับระบบการทำงานของร่างกาย ผลกระทบอันแรกคือ สมอง แอลกอฮอล์ทำให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพต่ำลง มีผลโดยตรงต่อการทรงตัว ความจำ การพูด การมองเห็น สมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ มีผลต่อความสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ และความรับรู้ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวลดลงและช้าลง สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นพฤติกรรมของคนดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ดื่มแล้วทำให้ความกล้าเพิ่มขึ้น ความยับยั้งชั่งใจลดลงผู้ดื่มเหล้าจนมึนเมามีแนวโน้มก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับคนอื่นมากขึ้น รวมถึงอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวได้

    เมื่อขาดความยับยั้งชั่งใจ บวกกับการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมลดลง การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ก็ลงลด ดังจะพบว่าคนที่เมาสุราแล้วขับรถยนต์จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้โดยง่าย แล้วนำไปสู่ความพิการ หรือความตายของทั้งของผู้เสพและผู้อื่น

    น่าอัศจรรย์ใจมากที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมบนท้องถนนในเมืองไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ทุกคนรับรู้ดี แต่ก็แค่รับรู้เท่านั้น เพราะปัญหายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อเท็จจริงพบว่ากฎหมายไทยดูเสมือนยินยอมให้คนเมาแล้วขับรถยนต์ได้ เพราะบทลงโทษต่ำมาก คนเมาแล้วขับรถยนต์ ถูกตัดคะแนนความประพฤติการขับรถเพียงแค่ 4 คะแนนเท่านั้น

    การดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้ขนาดสมองหดแฟบลง และยังฟ่อในส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำ และการใช้เหตุผล โดยผลในส่วนนี้จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ดื่ม

    ทุกคนอาจทราบดีว่าแอลกอฮอล์ที่เราดื่มคือ เอธิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล (ethanol) เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว แอลกอฮอล์จะถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงเป็นสารที่เรียกว่าอะเซตาลดีไฮด์ (acetaldehyde) และ อะซีเตท (acetate) ตามลำดับ สารนี้มีผลทำให้เกิดการอักเสบที่ตับ เมื่อดื่มเหล้ามากๆ และบ่อยๆ การอักเสบก็จะรุนแรงและเรื้อรัง จนเกิดภาวะตับแข็งตามมา

    ภาวะตับแข็งทำให้ตับทำหน้าที่ผิดปกติ หน้าที่หลักของตับคือกำจัดของเสียต่างๆ ในร่างกาย คนที่ตับแข็งจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องมาน นอกจากนั้น ตับยังทำหน้าที่สร้างสารช่วยให้เลือดแข็งตัว คนตับแข็งจึงเลือดออกง่าย แต่ที่สำคัญคือเมื่อตับแข็งแล้ว จะไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้อีก

    แอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูง มีผลทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ และการเต้นของหัวใจ

    หลายคนอ้างว่า แม้จะดื่ม แต่ก็รู้ limit ของตัว จึงไม่มีทางดื่มจนเมา หรือเป็นตับแข็งอย่างแน่นอน แต่ทว่าหากสังเกตดีๆ คนดื่มเหล้าจัดๆ มักมีน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ โปรดอย่าคิดว่าเป็นผลมาจากกับแกล้ม เพราะอันที่จริงเหล้าหรือแอลกอฮอล์มีพลังงานสูงมาก เทียบกับคาร์โบไฮเดรต 1 กรัมที่ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีแอลกอฮอล์ 1 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 7 กิโลแคลอรี เกือบ 2 เท่าของคาร์โบไฮเดรต จึงไม่น่าแปลกใจที่คนที่ดื่มเบียร์วันละ 2-3 ขวด จะมีน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่ได้กินอาหารหลักมากมายก็ตาม แล้วเมื่อถึงจุดภาวะอ้วนลงพุง โรคที่เกี่ยวกับระบบเผาผลาญหรือ metabolic diseases ก็จะตามติดมาติดๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

    ดังนั้น แม้จะไม่นับผลทางตรงที่เหล้ามีต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย แต่ก็มีผลทางอ้อมที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ หลายโรค และเหล้ายังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้หลายตำแหน่งด้วย นอกจากมะเร็งตับ ที่เกิดจากผลของเหล้าต่อตับโดยตรง อะเซตาลดีไฮด์ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงของแอลกอฮอล์คือสารที่มีความสัมพันธ์กับการก่อมะเร็งโดยตรง

    เพราะ อะเซตาลดีไฮด์ สามารถเปลี่ยนแปลงสาย DNA ทำให้มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง

    มีงานวิจัยพบว่าเหล้าเป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ มะเร็งศีรษะและคอมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ยิ่งในคนที่ทั้งดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรืออันตรายจากแอลกอฮอล์ที่ดื่มไปตีกับยาที่ใช้ มียาจำนวนไม่น้อยที่เกิดปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดอื่นๆ ยานอนหลับ ยาต้านชัก ยาต้านซึมเศร้า ยาฆ่าเชื้อบางประเภท เป็นต้น

    เห็นแล้วใช่ไหมว่าโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากมาย สามารถทำลายล้างระบบการทำงานของร่างกายได้อย่างน่ากลัว แต่ก็เป็นดุลยพินิจของปัจเจกว่าจะยังคงดื่มต่อไป หรือจะยุติการดื่มแน่นอนว่าในรายที่เคยดื่มหนักมาก อาจจะยากกับการหักดิบเลิกดื่มโดยพลัน แต่การค่อยๆ ลดปริมาณ และความถี่ในการดื่มลง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนดื่มทุกครั้งขอให้คิดก่อนว่าจะมีความสุขตอนนี้ หรือจะต้องทนทุกข์แสนสาหัสในวันหน้า ส่วนเรื่องความจนความรวยนั้น เป็นเรื่องที่หลายคนรู้ดีว่าจ่ายค่าเหล้า เบียร์ ไวน์นั้นแพงกว่าจ่ายค่าอาหาร แต่ที่จ่ายแพงกว่าคือค่ารักษาพยาบาล ส่วนเรื่องนายทุนขายเหล้า เบียร์ ไวน์ร่ำรวยมากขึ้นกี่แสนกี่ล้านเท่านั้น ก็ลองดูความมั่งคั่งของเจ้าของธุรกิจค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอาเองก็แล้วกัน

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และรศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/