มีปัญหาเรื่องยา ขอให้ถามจากเภสัชกร


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : มีปัญหาเรื่องยา ขอให้ถามจากเภสัชกร

วันจันทร์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.

    สัปดาห์ที่ผ่านมาคือสัปดาห์เภสัชและเมื่อพูดถึงเภสัชกรแล้วคนส่วนมากจะนึกถึงหมอยา หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยา จนมีคำกล่าวว่า ถ้าสงสัยเรื่องยา โปรดถามหาเภสัชกร

    เชื่อว่าคุณๆ ก็น่าจะเคยได้รับบริการเรื่องยาจากเภสัชกรเป็นประจำเมื่อต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แล้วแพทย์สั่งจ่ายยาให้ หรือบางรายก็ไปพบเภสัชกรที่ร้านขายยาที่ได้มาตรฐาน

    หนึ่งในความประทับใจที่คุณจะได้รับจากเภสัชกรตัวจริง ก็คือการซักถามเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพของคุณ และสุดท้ายจะจบด้วยการบอกย้ำถึงการรับประทานยาที่สั่งจ่ายให้ถูกวิธี เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้ยา

    หลายคนถามว่าทำไมเภสัชกรต้องถามโน่นนี่นั่น ก็ขอแจ้งให้ทราบว่ากว่าจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้แต่ละตัว เภสัชกรต้องการข้อมูลอะไรบ้างและเพื่ออะไรหากคุณไปรับบริการที่โรงพยาบาล หลังจากยืนยันตัวตนว่าคุณเป็นผู้ป่วยตัวจริงเรียบร้อยแล้ว คำถามหลักๆ ที่เภสัชกรจะต้องถามอย่างแน่นอนคือ แพ้ยาอะไรหรือไม่ ผู้ป่วยหลายคนอาจหงุดหงิด เพราะตอบคำถามนี้มาหลายรอบแล้วตั้งแต่เดินเข้าไปในโรงพยาบาล พยาบาลก็ถาม แพทย์ก็ถาม เภสัชกรยังจะถามอีก มาทุกรอบก็ถามทุกรอบ ไม่ดูข้อมูลที่บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์กันบ้างหรืออย่างไร

    คำตอบคือ ถึงเห็นว่าคุณมีประวัติแพ้ยาในคอมพิวเตอร์ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนก็ต้องถามซ้ำตลอด เนื่องจากคุณอาจมีประวัติแพ้ยาเพิ่มขึ้น หรือผู้ป่วยบางคนมานึกประวัติการแพ้ยาได้เมื่อเภสัชกรยื่นยาให้ ซึ่งหากเป็นยาที่คุณแพ้เภสัชกรยังสามารถดึงยากลับออกจากมือคุณได้ทัน ต้องบอกว่าการแพ้ยามีหลายระดับ ระดับที่รุนแรงที่สุดทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และเป็นสิ่งที่ป้องกันได้โดยการถามซ้ำๆ เพื่อความมั่นใจ

    ส่วนเภสัชกรในร้านขายยายิ่งมีคำถามที่ต้องซักถามคุณมากกว่าเรื่องแพ้ยา เช่น มีโรคประจำตัวไหม ใช้ยาหรืออาหารเสริม วิตามิน สมุนไพรอะไรอยู่บ้าง ที่ท่านกำลังใช้อยู่บ้าง บางคนอาจจะคิดว่าคำถามอาจไม่สัมพันธ์กับอาการที่คุณไปขอคำปรึกษา เช่น ผู้สูงอายุมาด้วยเรื่องปวดหลังเนื่องจากยกของหนักเภสัชกรจะถามว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่ เคยเป็นหอบหืด หรือเคยเป็นแผลในกระเพาะหรือเปล่า ที่ต้องถามเพราะยาที่จะใช้สำหรับแก้ปวดลดอักเสบมีข้อควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร เภสัชกรจึงต้องถามเพื่อจะได้เลือกยาที่เหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วยแต่ละราย

    ความจริงนั้น ถ้าหากคุณไปซื้อยาแก้ปวดหลัง แล้วคนขายหยิบยาให้โดยแจ้งราคาเท่านั้น แต่ไม่ถามอาการใดๆเลย คุณต้องสงสัยในความปลอดภัยของคุณเป็นอันดับแรก การที่เภสัชกรต้องซักไซ้คุณว่า ปัจจุบันคุณรับประทานยาอะไรอยู่หรือไม่ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้เป็นประจำมีอะไรบ้าง ก็เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ให้คุณไปนั้นจะไม่ตีกับยาที่คุณกินเป็นเป็นประจำ อันอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษา และเป็นอันตรายต่อคุณได้

    เพราะฉะนั้นจึงย้ำว่าคุณจำเป็นต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับยาที่ใช้เป็นประจำ เมื่อคุณไปพบแพทย์หรือเภสัชกร คุณต้องบอกแพทย์และเภสัชกรด้วยว่าใช้ยาอะไรอยู่ก่อน เภสัชกรต้องถามเพราะจะได้รู้ว่าจะจ่ายยาที่ปลอดภัยที่สุดให้คุณได้อย่างไร หรือไม่จำเป็นต้องจ่ายยาซ้ำซ้อนกับยาที่มีอยู่ ในบางครั้งเภสัชกรจะทำตัวเหมือนเป็นครูที่ต้องซักไซ้ไล่เลียงการใช้ยา รวมถึงวิธีการใช้ยาพิเศษบางประเภทอย่างละเอียดลออ เช่น ยาพ่นโดยให้คุณเล่าให้ฟังบ้างหรือให้แสดงการใช้ยาให้ดู เพราะเภสัชกรต้องการความมั่นใจว่าคุณใช้ยาถูกวิธี

    ในบางครั้งก็พบว่า ผู้ป่วยบางรายขอซื้อยาบางชนิดไปเก็บไว้ โดยอ้างว่าเผื่อไว้ในเวลาที่ไม่สบาย หรือเผื่อว่าคนที่บ้านไม่สบาย ซึ่งยาหลายตัวนั้นเภสัชกรอาจปฏิเสธการจ่ายให้เนื่องจากยาบางชนิดเมื่อนำไปใช้อาจจะเกิดการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่สามารถพิจารณาได้ว่า การไม่สบายครั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อใด ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคชนิดใดจึงจะเหมาะสม บางครั้งอาการป่วยอาจดูคล้ายกัน แต่สาเหตุการเจ็บป่วยอาจแตกต่างกัน ก็จำเป็นต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนได้รับยา

    ขอฝากคุณๆ ว่า เวลาไปพบเภสัชกร คุณอาจจะถูกถามมากมายจนรู้สึกรำคาญ แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคุณ เภสัชกรจำเป็นต้องถาม เพื่อให้มั่นใจว่าจ่ายยาได้ถูกต้องและเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้วสามารถใช้ยาได้ถูกต้อง เพื่อผลการรักษาที่ดี และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคุณ โปรดจำไว้ว่า เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาโปรดปรึกษาเภสัชกร

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/