ยาแก้แพ้ ใช้ผิดจะยิ่งแย่กว่าเดิม


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : ยาแก้แพ้ ใช้ผิดจะยิ่งแย่กว่าเดิม

วันจันทร์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

    โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จากสถิติพบว่าผู้ใหญ่ประมาณ ร้อยละ 20 เป็นโรคภูมิแพ้ ส่วนสถิติในเด็กพบสูงกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 2 เท่าดังนั้นคนทั้งสองกลุ่มจึงใช้ยาแก้แพ้กันมาก และพบว่าเป็นยาที่ใช้กันมานานกว่า 70 ปี ปัจจุบันมีการใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ นอกจากนั้นยังสามารถซื้อได้เองจากร้านยา ยาแก้แพ้บางชนิดเป็นยาสามัญประจำบ้าน สามารถซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป

    ปัจจุบันมียาแก้แพ้กลุ่มใหม่ในตลาด แต่ก็มีข้อกังวลบางอย่างเกี่ยวกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องใช้ยาแก้แพ้บางตัว

    ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (antihistamine) ออกฤทธิ์ต้านไม่ให้สารฮิสตามีนที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายพบเจอกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้จับกับตัวรับ แล้วทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ นานา เช่น อาการคัน น้ำมูก/น้ำตาไหล จาม ไอ เป็นต้น

    ปัจจุบันยาต้านฮิสตามีนที่จำหน่ายในตลาดมี 2 รุ่นรุ่นที่หนึ่ง (first generation) ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine: CPM), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) มีข้อดีคือราคาค่อนข้างถูก ออกฤทธิ์รวดเร็ว แต่ก็หมดฤทธิ์รวดเร็วเช่นกัน จึงเป็นยาที่มักต้องรับประทานมากกว่าวันละ 1 ครั้ง ยาแก้แพ้รุ่นแรกนี้มีข้อเสียหลายประการคือทำให้ง่วงซึม เพราะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ต้านระบบระบบประสาทโคลิเนอร์จิค ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะขัด จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่ต้องการความตื่นตัว เช่น นักเรียน/นักศึกษาที่ต้องเรียนหรือสอบ คนที่ต้องขับรถ คนที่ทำงานกับเครื่องจักร หรือคนที่ทำงานบนที่สูงและเสี่ยงต่อการพลัดตก นอกจากนี้ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวจำพวกต้อหิน หรือต่อมลูกหมากโตเพราะยิ่งซ้ำเติมอาการของโรคเดิมให้รุนแรงมากขึ้นอีก

    ยาแก้แพ้รุ่นที่สอง (second generation) มักถูกเรียกในท้องตลาดว่ายาแก้แพ้แบบไม่ง่วง (non-sedative antihistamine) ตัวที่นิยมใช้บ่อยๆ ได้แก่ ลอราทาดีน (loratadine) เซทิริซีน (cetirizine) เฟกโซเฟนาดีน (fexofenadine) เดสลอราทาดีน (Desloratadine) เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) และ บิลาสทีน (Bilastine) เป็นต้น นอกจากจะพัฒนาให้ผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึมลดลงแล้ว ยังสามารถออกฤทธิ์ต้านอาการแพ้ได้นานขึ้น ยากลุ่มนี้จึงรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งเดียว ซึ่งเป็นจุดเด่นของยารุ่นนี้

    นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับยาแก้แพ้รุ่นที่หนึ่ง แล้วยาในรุ่นที่สอง ยังมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางน้อยกว่า นอกจากจะทำให้ไม่ง่วงแล้ว การที่ยาถูกพัฒนาให้จำเพาะเจาะจงต่อเป้าหมายมากขึ้น ผลข้างเคียงลดลงและปลอดภัยมากขึ้น

    ในปัจจุบันมีข้อมูลชี้ว่า การใช้ยาแก้แพ้รุ่นที่หนึ่งอย่างต่อเนื่องมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เนื่องจากยาในกลุ่มนี้เข้าสมองได้ และมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทโคลิเนอร์จิค อย่างไรก็ตามยารุ่นใหม่ๆ มีราคาสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยากลุ่มเก่าๆ โดยเฉพาะในรุ่นที่หนึ่ง

    กลุ่มผู้ป่วยที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องใช้ยาแก้แพ้คือ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 อาจจะปลอดภัยมากกว่า อย่างไรก็ตามในเด็กช่วงอายุต่างกัน การใช้ยาแต่ละตัวจึงอนุญาตให้ใช้ได้ในระดับแตกต่างกัน เช่นบางตัวใช้ได้ตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป รวมถึงขนาดของยาด้วยเช่นกันโดยต้องพิจารณาว่าขึ้นอยู่กับน้ำหนักหรืออายุ

    ดังนั้น การใช้ยาในเด็กทุกกรณีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย ส่วนในผู้สูงอายุ ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้รุ่นที่หนึ่ง เพราะนอกจากจะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วงซึม เสี่ยงต่อการหกล้ม ทำให้ปัสสาวะขัด ท้องผูก ฯลฯ แล้ว ด้วยลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุ ที่ตับไตเริ่มทำงานได้ลดลง มีโรคประจำตัวและใช้ยาหลากหลาย การเลือกใช้ยาแก้แพ้จึงควรตรวจสอบเรื่องปัญหายาตีกัน รวมถึงการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของตับไตด้วย แม้การใช้ยาแก้แพ้จะดูเป็นเรื่องปกติของหลายๆ คน และยังเป็นยาที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ต้องไม่มองข้ามความปลอดภัยของการใช้ยาแก้แพ้

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/