วัน (ต่อต้าน) มะเร็งโลก


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : วัน (ต่อต้าน) มะเร็งโลก

วันจันทร์ ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

    มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งที่คราชีวิตผู้คน (รวมถึงสัตว์อื่นๆ) มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นเพื่อให้ตระหนึกถึงความร้ายแรงของมะเร็ง นานาสากลจึงร่วมใจตกลงให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น วัน (ต่อต้าน) มะเร็งโลก

    ข้อมูลจาก World Cancer Research Fund International รายงานเมื่อปี 2020 ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 18 ล้านคน คิดคร่าวๆ คือทุกๆ ประชากร 100,000 คน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 190 คน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า เรามักได้ข่าวว่าคนโน้นคนนี้ที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัวและเป็นคนดังระดับประเทศที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ป่วยเป็นมะเร็งอยู่เรื่อยๆ ข่าวร้ายเรื่องโรคมะเร็งมีมาให้เราตกใจกันเนืองๆ สัปดาห์นี้จึงขอชวนคุยเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

    อันที่จริงแล้ว มะเร็งเกิดขึ้นได้ทั้งร่างกายของเราตั้งแต่หัวจรดเท้า เพราะเซลล์ทุกส่วนของร่างกายสามารถเกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์ผิดปกติได้ทั้งนั้น แต่สำหรับคนไทย ถ้าแยกตามเพศแล้ว เราพบว่าเพศชายพบมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด รองลงมาเป็นมะเร็งปอด ส่วนเพศหญิงพบมะเร็งเต้านมบ่อยที่สุด รองลงมาเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีเช่นกัน

    น่าสนใจว่าทำไมคนไทยจึงเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากกว่าเมื่อเทียบกับคนยุโรปและอเมริกา ข้อสังเกตหนึ่งคือเรื่องสุขอนามัยและอาหารการกินเป็นเหตุสำคัญ สาเหตุที่พบบ่อยว่าเกี่ยวข้องกับมะเร็งตับคือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ดื่มสุรา มีภาวะไขมันพอกตับ การบริโภคสารอะฟลาท็อกซินที่ปนเปื้อนในอาหาร

    ส่วนสาเหตุที่สำคัญของมะเร็งท่อน้ำดีคือการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับที่ปนเปื้อนมากับอาหารหมักดองจำพวก ปลาร้า เนื้อดิบ เป็นต้น อีกสาเหตุหนึ่งคือการบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมด้วยสารไนโตรซามีน ดินประสิว เช่น แหนม กุนเชียง ปลาเค็ม หรืออาหารรมควันต่างๆ มากเกินไป ถ้าพิจารณาดีๆ เราจะพบว่า สาเหตุของทั้งมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ เช่น ป้องกันการเป็นมะเร็งตับบางส่วนได้ตั้งแต่ต้นด้วยการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ลดละเลิกการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการกินถั่วป่นที่ไม่รู้ว่าเก่าหรือใหม่เพื่อลดโอกาสได้รับอะฟลาท็อกซิน

    ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีก็ป้องกันได้ด้วยการไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ลดกินอาหารที่ผ่านการถนอมด้วยสารที่ไม่ปลอดภัยส่วนคนที่คิดว่าเอาละต่อไปนี้ฉันจะลดละเลิกอาหารจำพวกดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่ทว่าที่ผ่านนั้น ได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายไปไม่มากก็น้อยแล้ว หากเป็นแบบนี้จะต้องทำอย่างไร

    ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรักษามะเร็งได้ผลดีคือ ต้องตรวจพบโรคตั้งแต่ตัวมะเร็งยังไม่ลุกลามเหมือนกับมะเร็งเต้านมที่ปัจจุบันนี้อัตราการรอดชีวิตและรักษาหายขาดสูงมาก เพราะคนไข้ไปหาหมอตั้งแต่โรคยังไม่ลุกลามบานปลาย แต่โชคไม่ค่อยดีที่ทั้งมะเร็งตับและท่อน้ำดีนั้นเมื่อเริ่มต้นเป็น จะสังเกตอาการได้ค่อนข้างยากมาก

    อาการเริ่มต้นของมะเร็งตับและท่อน้ำดี อาทิ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง อึดอัดแน่นท้อง เป็นอาการที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเหมือนคลำพบก้อนที่เต้านม ทำให้กว่าผู้ป่วยจะไปพบแพทย์ก็ช้าเกินไป โรคจึงอยู่ในระยะลุกลามแล้ว หมายความว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่อาจจะไม่ถึงปีแล้วก็ได้

    ด้วยเหตุที่อาการเริ่มต้นของทั้งมะเร็งตับและท่อน้ำดีมักเป็นอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดแน่นท้อง ไม่อยากกินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติอาจเริ่มต้นจากการซื้อยาบรรเทาอาการเบื้องต้นจากร้านยาก่อน เช่น ยาลดกรด ยาช่วยย่อย บางคนอาจมาปรึกษาขอซื้อวิตามินไปกินเพื่อเพิ่มความอยากอาหาร แต่หากตระหนักถึงโรคร้ายแรงไว้สักนิดว่าผู้ป่วยอาจมีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับหรือท่อน้ำดี โดยการให้เวลาเพื่อดูอาการด้วยตนเองประมาณไม่เกิน 1 เดือน หากอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ทันการณ์

    ล่าสุดภาครัฐมีโครงการ cancer anywhere หรือเป็นมะเร็งแล้วรักษาได้ทุกที่ ผู้มีสิทธิ์บัตรทองและได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสามารถเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงได้ เพิ่มทั้งความสะดวกสบายและโอกาสการได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าที่ผ่านมา

    สรุปว่า แม้มะเร็งจะใกล้ตัวมากกว่าที่คิด แต่โอกาสได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงก็เข้าถึงได้ไม่ยากเย็นอีกต่อไป การตระหนักถึงโรคและการเข้าถึงการรักษาได้ทันการณ์จะทำให้สามารถรักษาโรคได้หายขาด ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพราะฉะนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเอง หากพบเหตุผิดปกติก็ไม่ควรทิ้งไว้ แต่ต้องไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/