เกษียณสุข เมื่อสุขภาพดี


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : เกษียณสุข เมื่อสุขภาพดี

วันจันทร์ ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.

    สำหรับผู้ที่อายุครบ 60 ปี ในเดือนตุลาคม ก็นับว่าเป็นช่วงที่ส่วนมากจะต้องยุติการทำงานประจำ (ยกเว้นบางคนที่ยังต้องทำงานต่อไป เพราะไม่ได้เกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปี) บางคนบอกว่าเกษียณแล้วจะเที่ยวๆ และเที่ยว บางคนบอกจะพักผ่อนให้หายเหนื่อย แต่บางคนบอกว่าเกษียณแล้วคงจะเหงา ส่วนคนที่ยังถอดหัวโขนไม่ออก ยังติดยึดกับตำแหน่งก็คงจะลำบากใจมิใช่น้อยเพราะเมื่อหมดอำนาจก็จะหมดคนเกรงอกเกรงใจไปโดยพลันยกเว้นคนที่มีพระคุณมากกว่าพระเดช

    สัปดาห์นี้อยากชวนคุยประเด็นสุขภาพคนวัยเกษียณ เพราะคนวัยนี้ส่วนมากมักจะประสบพบเจอโรคภัยไข้เจ็บสารพัด อวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็เสื่อมลงไปตามวัย หู ตา แขน ขา ข้อเข่าก็ดูจะไม่ดีเหมือนช่วงเด็กและหนุ่มสาว ระบบย่อยอาหาร และการรับรสชาติอาหาร รวมถึงระบบขับถ่ายก็ดูจะมีปัญหาด้วย (สำหรับคนที่ไม่ค่อยดูแลตัวเองให้ดีตลอดเวลา) ส่วนบางคนก็มีโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ กระดูกและข้อ ดังนั้นก็จึงต้องใช้ยาหลายขนานในเวลาเดียวกัน ดังนั้น บางรายจึงปัญหาอาการไม่พึงประสงค์จากยาแต่บางมีปัญหาลืมกินยา ส่วนบางรายก็ตั้งใจไม่กินยาเสียอีก พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้มีผลต่อการควบคุมและดูแลรักษาโรค

    ในเมื่อเราต้องใช้ยาหลายขนาน สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหรือที่เรียกว่ายาตีกัน ปัญหานี้ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาลดลง

    นอกจากนี้ เราพบว่าในสังคมปัจจุบันมีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ นานาในสื่อสารมวลชนทุกชนิด บางคนดูโฆษณาแล้วซื้อทุกอย่างมากิน หรือไม่ก็ได้รับของเหล่านี้จากลูกหลานและเพื่อนฝูงที่นำมาให้ด้วยความหวังดี แต่ขอเตือนว่าบางผลิตภัณฑ์อาจมีผลต่อโรคที่เราเป็น หรือมีผลกับยาที่เรากินเป็นประจำ ทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือลดประสิทธิภาพการรักษาของยาที่เราใช้ ฉะนั้น คุณที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรอยู่แล้ว และต้องการใช้เพิ่ม หรือต้องใช้ยาประจำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเดิมอยู่แล้ว และแต่ละรายยังมีปัญหาพื้นฐานสุขภาพไม่เหมือนกัน เช่น บางคนมีปัญหาตับไต จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรใดๆ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ

    และขอเตือนผู้ที่ชอบแนะนำยาให้กันและกันในหมู่เพื่อนๆ บางคนเห็นว่าตนเองใช้แล้วดี ก็จึงบอกต่อด้วยความหวังดี แต่ขอแนะนำว่าอย่าทำเป็นอันขาด เพราะอาจเกิดผลเสียร้ายแรงกับผู้อื่นได้ เช่น อาจแพ้ยา หรือบางคนไม่สามารถใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางตัวได้ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว และอาจเกิดปัญหายาตีกัน รวมถึงอาจได้รับยาเกินขนาด หรือใช้ยาซ้ำซ้อน

    ดังที่ได้เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อนๆ นั้น ยังมีปัญหาอีกเรื่องคือบางคนไม่อ่านคำแนะนำการใช้ยาให้ดี จึงชอบแบ่งหรือหักยาก่อนกิน โดยอ้างว่ายาเม็ดโตเกินไป จึงกลืนลำบาก แต่ขอบอกว่ายาบางอย่างนั้นห้ามแบ่งหรือหักยาเป็นอันขาด เพราะทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่เป็นไปตามการรักษา หรือบางคนหยุดกินยาเอง เพราะเห็นว่าตัวเองหายจากอาการป่วยแล้ว แต่ในความเป็นจริงต้องกินยาที่ได้รับให้หมด เพื่อให้โรคหายขาดอย่างแท้จริง ขอแนะนำว่าหากคุณต้องใช้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ขอให้ทำรายละเอียดของยาไว้ แล้วเมื่อไปพบแพทย์ ขอให้นำรายละเอียดขอยาที่ใช้ไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อลดปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อน และยาตีกัน

    อีกเรื่องที่ต้องระวังมากในกลุ่มผู้สูงวัยคือท้องผูก ระบบขับถ่ายมีปัญหา เรื่องเหล่านี้มีต้นเหตุมาจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป จึงต้องปรับเปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรมการกินร่วมกับการออกกำลังกายให้เหมาะสม ควรรับประทานผลไม้ หรืออาหารที่ช่วยขับถ่าย เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก สับปะรด มะขาม โยเกิร์ต ลูกพรุน แกงขี้เหล็ก แกงส้มมะรุม เป็นต้น จะช่วยลดอาการท้องผูกได้

    ส่วนปัญหาเข่าเสื่อมก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแล ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้สมดุล ต้องหมั่นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา

    ท้ายสุด ก็คือเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการสังสรรค์งานเลี้ยงอำลาจากงานประจำ จึงขอให้ทุกคนระมัดระวังโควิด-19ที่ยังไม่หมดไปจากสังคม จะสังสรรค์ทั้งทีก็เลือกสถานที่ด้วย อย่าเข้าไปในที่ซึ่งแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี ขอให้เตือนตัวเองว่าอายุมากแล้ว ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาจะรักษานานกว่าวัยหนุ่มสาวเพราะฉะนั้นรักษาสุขภาพให้ดีเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/