โรคฝีดาษลิง อะไรคือสิ่งที่คนต้องระวัง


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : โรคฝีดาษลิง อะไรคือสิ่งที่คนต้องระวัง

วันจันทร์ ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 06.05 น.
     

    จากข้อมูลการแพร่ระบาดโรค ฝีดาษลิง หรือ Monkeypox ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ล่าสุดพบผู้ป่วยแล้วประมาณ 300 รายทำให้โรคนี้กำลังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลก

    โรคฝีดาษลิงเกิดจากการติดเชื้อ Monkeypox virus ค้นพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ในสัตว์จำพวกลิงนอกจากนี้ยังพบรายงานในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระรอก หนู กระต่าย เป็นต้น และเริ่มพบการระบาดในคนครั้งแรกในประเทศคองโก เมื่อปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) และพบรายงานผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นในแถบแอฟริกากลางและตะวันตก

 

    อาการแสดงของโรคในคนจะมีลักษณะคล้ายกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ระยะเวลาฟักตัวของโรคประมาณ 5-21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะพบว่ามีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโตหนาวสั่น อ่อนเพลีย หลังจากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะเริ่มพบผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าแล้วกระจายไปตามลำตัว โดยผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนองและเกิดเป็นสะเก็ดหลุดลอก ระยะเวลาการป่วยอยู่ในช่วงประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เอง อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 1-10

 

    การติดต่อของเชื้อ Monkeypox virus เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสัตว์ คน หรือสิ่งของปนเปื้อน ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ หรือเยื่อเมือกบริเวณตา จมูกหรือปาก นอกจากนี้ยังพบการแพร่กระจายของเชื้อจากสัตว์สู่คนจากการถูกกัดหรือข่วน รวมถึงการประกอบอาหารที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ แม้ว่าการติดต่อจากคนสู่คนยังพบรายงานน้อยมาก แต่เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่มหนอง หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

 

    ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะกับโรคฝีดาษลิง แต่เนื่องจากเชื้อมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสไข้ทรพิษ ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือที่เรารู้จักกันคือ การปลูกฝี จึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ สามารถป้องกันโรคนี้ได้ร้อยละ 85

    อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ได้มีการกวาดล้างโรคไข้ทรพิษ ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโลกปราศจากโรคไข้ทรพิษแล้ว จึงยุติการฉีดวัคซีน ส่งผลให้เด็กที่เกิดช่วงหลังปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) จึงไม่ได้รับวัคซีนไข้ทรพิษอีก จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

    นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้ยาต้านไวรัส ได้แก่ cidofovir, brincidofovir (CMX001), tecovirimat (ST-246) ซึ่งมีประสิทธิผลในการรักษาโรคฝีดาษลิง แต่พบข้อมูลเฉพาะในหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลองเท่านั้น รวมถึงการให้แอนติบอดีเสริมภูมิต้านทานคือ Vaccinia Immune Globulin (VIG)

 

    สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิง ในปัจจุบันมีวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เพียงชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) คือ วัคซีน JYNNEOSTM หรือที่รู้จักกันในชื่อ Imvamune หรือ Imvanex ซึ่งแนะนำให้ใช้ในผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยหลังรับวัคซีนนี้ คือ ปวด บวมแดง คันบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน

    อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้ถูกจัดเก็บโดยองค์การอนามัยโลกสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับโรคฝีดาษเท่านั้น ดังนั้นวิธีการป้องกันและควบคุมโรคที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนหรือกลุ่มเสี่ยง ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่

    1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือสัตว์ป่า

    2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

    3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสัตว์ หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเมื่อต้องเดินทางเข้าไปในป่า

    4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ โดยไม่ผ่านการคัดกรองโรค

    5. กรณีเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องผ่านการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที และต้องยกกักตัว เพื่อมิให้โรคแพร่กระจายเชื้อ

    สรุป โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในตระกูลไข้ทรพิษหรือฝีดาษ สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคได้เอง แต่มักพบอาการรุนแรงในเด็ก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะเจาะจง แม้จะมีวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่ยังจำกัดให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเพื่อป้องกันและควบคุมโรค เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง

ภก.วรพงษ์ สังสะนะ, รศ.ภก.ดร.ชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 Phaya Thai Road, Pathum Wan, Bangkok 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/