โรคลมแดด อันตรายถึงชีวิต ถ้าแก้ไขไม่ทัน

รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : โรคลมแดด อันตรายถึงชีวิต ถ้าแก้ไขไม่ทัน
ระยะนี้ คนมากมายในเมืองไทยจะบ่นว่า ทำไมอากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ แล้วก็ดูเสมือนว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนในบ้านเราจะสูงขึ้นๆ ทุกๆ ปี แค่เดินกลางแดดเดี๋ยวเดียวเท่านั้น บางคนบ่นว่าแทบจะละลาย สำหรับคนที่ทำงานในห้องแอร์ยังโชคดีมาก แต่สำหรับคนทำงานกลางแจ้งและกลางแดดนั้นน่าเห็นใจและน่าเป็นห่วงมาก ยิ่งมีข่าวผู้คนเสียชีวิตจากลมแดดหรือ heat stroke ก็ยิ่งทำให้กังวลมากขึ้น
มาทำความรู้จักกับโรคลมแดดกันก่อน มันคือภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป เพราะไม่สามารถระบายความร้อน และไม่สามารถควมคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไปในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ขณะเกิดลมแดด คนไข้มักมีอุณหภูมิร่างกายสูงมากถึง 40 องศาเซลเซียสหัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่มาก บางรายปวดหัว ชัก หมดสติหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที Heat Stroke สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อสมอง หัวใจ ไต และอาจเสียชีวิตได้
คนที่เสี่ยงต่อการเป็น Heat Stroke คือ คนที่ทำงานหนักหรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากกว่าปกติในที่มีแดดร้อนหรืออุณหภูมิสูงมาก คนที่เสี่ยงมากกว่าก็คือเด็กเล็กและคนชรา คนมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศเมืองหนาว ซึ่งอาจปรับตัวเข้ากับอากาศร้อนไม่ทัน ดังนั้น หากเราเห็นว่าใครมีอาการผิดปกติตามลักษณะที่กล่าวในข้างต้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นลมแดด ต้องรีบให้การปฐมพยาบาลด่วน โดยพาเข้าที่ร่มถอนหรือคลายเสื้อผ้าออก พยายามช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย และระบายความร้อนให้เร็วที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว และประคบตามข้อพับ ซอกและง่ามขา รวมถึงรักแร้ ระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับไปโรงพยาบาล
ที่น่าสนใจคือ การใช้ยาบางอย่าง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ในกลุ่มผู้ป่วยความดันเลือดสูง หรือหัวใจล้มเหลวชนิดมีน้ำคั่ง เพราะยาพวกนี้ออกฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดลมแดดมากขึ้น แต่ยาบางกลุ่มทำให้ร่างกายขับเหงื่อน้อยลง ส่งผลให้ระบายความร้อนได้ไม่ดี เช่น กลุ่มยาจิตเวช และยาต้านซึมเศร้าบางชนิด ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้ควรระมัดระวังการเป็นลมแดด
นอกจากนี้ยังมียาที่มีผลต่อการหดและขยายตัวของหลอดเลือด ที่มักใช้ในคนไข้โรคห้วใจ หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจมีผลต่อการระบายความร้อนออกจากร่างกายของคนไข้เช่นกัน ดังนั้น ใครที่มีโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาที่กล่าวในข้างต้น ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังการเป็นลมแดดมากกว่าคนปกติ
แต่หาก ถ้าเกิดอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากอากาศร้อนและอบอ้าวจัด หรือรู้สึกเพลียแดดต้องหลบเข้าร่มทันที แต่ถ้าต้องอยู่กลางแดดต่อไป ต้องใช้พัดลม หรือพัด เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย แล้วปลดหรือคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่น แล้วต้องดื่ม หรือจิบน้ำสะอาดบ่อยๆ หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่
เราสามารถป้องกันการเกิดโรคลมแดดได้ดังนี้ ถ้าต้องมีทำงานหนัก หรือออกแรงหนักๆ ในที่ร้อนจัด มีแดดแรงมาก ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น เสื้อผ้ากันแดดที่เบาบางแต่ระบายความร้อนได้ดี พกน้ำสะอาดไว้ แล้วจิบไปเรื่อยๆ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ร่างกายขาดน้ำ หมั่นคอยสังเกตอาการตัวเอง และคนรอบข้างว่ามีอาการลมแดดเกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือปฐมพยาบาลได้ทันท่วงที ซึ่งจะลดโอกาสการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากลมแดดได้
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า