โรคหัวใจ ดูแลได้ รักษาได้ ถ้าเราใส่ใจ

รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : โรคหัวใจ ดูแลได้ รักษาได้ ถ้าเราใส่ใจ
ผ่านพ้นวันเลือกตั้ง สส. ไปแล้ว หลายคนอาจจะหายใจสะดวกขึ้นมาบ้าง เพราะช่วงก่อนเลือกตั้งนั้น บรรยากาศการเมืองค่อนข้างร้อนแรง แต่ในช่วงนั้นมีข่าวคนดังบางคนเกิดอาการวูบหมดสติ แต่ไม่ได้หมายความว่าวูบเพราะข่าวการเมืองแต่น่าจะมีปัญหาใดๆ กับร่างกายของผู้ที่วูบอย่างแน่นอน
อาการวูบเกี่ยวกับหัวใจวายเฉียบพลันไหม คำถามนี้มีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของพิธีกรวัยหนุ่มแน่น แถมเป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมออีกด้วย บอกได้ว่าอาการวูบเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ เป็นไปได้ว่าเกี่ยวกับหัวใจ เรื่องนี้ทำให้คนทั่วไปกลัวว่าโรคหัวใจอาจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราเคยคิด
โรคหัวใจมีหลายประเภทมาก เริ่มจากหัวใจพิการแต่กำเนิด มักมีอาการตั้งแต่วัยทารก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจล้มเหลว เป็นต้น แต่ละโรคจะมีอาการต่างกัน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้ว ความผิดปกติของหัวใจมักพบในวัยกลางคนเป็นต้นไป
อาการผิดปกติที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรนึกถึงโรคหัวใจ คือ ใจสั่น หน้ามืด รู้สึกเหมือนจะเป็นลมหรือเป็นลมหมดสติเจ็บแน่นหน้าอก หรือรู้สึกจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่แล้วร้าวขึ้นไปที่ขากรรไกร ร่วมกับมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น เมื่อใดที่เราหรือคนในบ้านมีอาการเช่นนี้ ต้องรีบโทรเรียกรถฉุกเฉิน 1669 ทันที เพราะอาการของโรคหัวใจต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตกลับเป็นปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อจำกัดความเสียหายที่จะเกิดกับอวัยวะสำคัญอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากแค่ไหน จริงๆ แล้วโรคหัวใจนับเป็นหนึ่งในโรคกลุ่มเรื้อรัง เป็นโรคไม่ติดต่อ แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ
ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของการเกิดโรคกลุ่มนี้ คือ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ดี เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารหวาน มัน เค็มจัด ไม่กินผักผลไม้ ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
แต่ถ้าอยากรู้จริงๆ ว่าเราเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใน 10 ปีมากน้อยเพียงใด สามารถลองคำนวณได้ตาม link นี้ http://doh.hpc.go.th/screen/screenThaicvd_hx.php
ซึ่งเป็นแบบประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจหรือสมองของคนไทย จัดทำโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกรอกข้อมูลโดยไม่ต้องระบุชื่อ
กรณีที่เรามีโรคประจำตัวอื่น เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง หนทางเดียวที่จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ คือ ต้องควบคุมโรคเหล่านั้นให้ได้ และต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง เนื่องจากผู้ป่วยหยุดยาเอง เพราะเห็นว่าไม่มีอาการ หรือเห็นว่าค่าความดัน และผลเลือด อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว จึงหยุดใช้ยาเอง หรือผู้ป่วยบางรายเข้าใจผิดคิดว่า โรคที่เป็นอยู่นั้น อาจจะหายไปแล้วหรือเพราะมีอาการดีขึ้น จึงไม่เข้มงวดกับการกินยา และไม่ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน บางคนมีนัดพบแพทย์ทุก 3 เดือน แต่มาคุมเข้มก่อนนัดตรวจแค่ 2 สัปดาห์เพื่อให้ผลเลือดต่างๆ ออกมาดี แบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะในช่วงที่เราทำตัวตามใจ กินทุกอย่างที่อยากกินกินยาบ้างไม่กินยาบ้าง ก็คือการเพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก
เภสัชกรจึงต้องย้ำกับผู้ป่วยเสมอว่า ต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ห้ามงด ห้ามลด ห้ามเพิ่มยาเองเด็ดขาดเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา
ส่วนคนที่มีคนในบ้านมีความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรฝึกทักษะการช่วยเหลือการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น หรือการทำ CPR ไว้ อย่างน้อยก็เผื่อใช้ระหว่างรอความช่วยเหลือ คนไข้โรคหัวใจบางคนมียาอมใต้ลิ้นสำหรับใช้เวลาเจ็บหน้าอก ก็ควรพกติดติดตลอด และแจ้งให้คนใกล้ชิดทราบว่าเก็บยาไว้ที่ไหน เพื่อสามารถหยิบยาให้ได้เวลาที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และต้องตรวจเช็ควันหมดอายุของยาที่เก็บด้วย
สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ คือ มาจากการที่เรามีโรคเรื้อรังอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ดูแลควบคุมโรคเดิมให้ดี ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา
ฉะนั้น จึงย้ำว่า คุณที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง ต้องรับประทานยารักษาโรคเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ ต้องไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเช็คความเป็นไปของโรคตามระยะ หรือเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในบางครั้งแพทย์อาจต้องปรับ หรือเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับสภาวะของโรคด้วย เพราะฉะนั้นต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า