Burn Out หมดไฟ ไร้แรงใจ
รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : Burn Out หมดไฟ ไร้แรงใจ
เราทุกคนเดินทางมาถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 แล้ว แต่สำหรับส่วนราชการก็เรียกว่าเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ ดังนั้น คนทำงานที่ต้องเร่งทำงานก็อาจมีสภาพต้องรีบเร่งทำงาน เพื่อให้จบงานโดยสมบูรณ์ตามเป้าประสงค์ การเร่งรีบทำงาน และการทำงานหนักอาจทำให้หลายคนเกิดอาการหมดไฟ หรือ burn out
คำว่า burn out อาจเป็นคำใหม่ในสังคมไทยยุคนี้ แต่จริงๆ มันก็คืออาการเครียดจัดเพราะทำงานหนัก เหนื่อยล้าหมดแรงกาย ไร้แรงใจ ไม่อยากทำอะไร อยากนอนนิ่งๆ หายใจทิ้งไปวัน ๆ ซึ่งสมัยก่อนคนที่บอกว่าเครียดก็คงไม่คิดอะไรมาก คิดว่าพักสักครู่ก็หายเครียดแล้ว แต่ตอนนี้คนเรามีความเข้าใจมากขึ้นกับสภาพ burn out แล้วมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากทิ้งไว้นานจะก่อปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต
สรุปแบบสั้นที่สุดของสภาวะ burn out คือ สภาวะเครียดสะสมเรื้อรังจากการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้กำลังกาย และพลังใจ ชนิดเข้มข้นเป็นเวลานานมากๆ จนรู้สึกหมดพลังทั้งกายและใจ ทำให้ขาดแรงบันดาลใจ และไม่ชื่นชอบสิ่งที่เคยชื่นชมมากก่อน แล้วเบื่อหน่ายไปทุกสิ่งทุกอย่าง
เราสังเกตตัวเอง และคนใกล้ชิดได้ว่ามีสภาวะ burn out หรือไม่ โดยดูจาก 3 ด้าน คือร่างกาย เช่น คนที่กำลัง burn out จะรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา แม้ได้พักเพียงพอแล้ว ก็ไม่หายเหนื่อย อาจนอนไม่หลับ ปวดหัวถ้าต้องเผชิญหน้ากับความเครียดมากๆ อาจมีอาการทางกายอื่นๆ ร่วมด้วย
ด้านจิตใจ และอารมณ์ คนที่กำลัง burn out จะรู้สึกหดหู่ เห็นว่าตัวเองไม่ดี ไม่เก่ง วิตกกังวลมากจนมีผลกับงาน คนที่ burn out มักตัดสินใจล่าช้า เรียงลำดับความสำคัญของงานผิดพลาด ส่งผลต่อเนื่องไปถึงความสัมพันธ์ในที่ทำงาน หรือถ้าในวัยเรียนก็ส่งผลต่อผลการเรียน และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ
ไม่ว่าสาเหตุทำให้เกิดภาวะ burn out จะมาจากอะไรก็ตาม แต่เราสามารถจัดการมันได้ และยังสามารถดูแลคนใกล้ชิดที่มีภาวะนี้ได้ โดยเริ่มต้นจากการควบคุมสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อน เช่น ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี กินอาหารดีให้ครบห้าหมู่ กินสิ่งดีมีประโยชน์ ลดและเลี่ยงกาแฟ บุหรี่ เหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า พาตัวเองไปเดินชมนกชมไม้ในสวน
ส่วนคนที่มีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดัน เบาหวาน กรดไหลย้อน ไมเกรน ก็ต้องเน้นการรักษาให้ดี และกินยาสม่ำเสมอ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกต้อง เหล่านี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหานี้
เมื่อดูแลทางกายแล้ว ก็ต้องดูแลจิตใจด้วย แต่ก็ขึ้นกับบริบทของแต่ละคน บางคนอาจใช้ธรรมะเพื่อบำบัด แต่ก็ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกคน แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การกำหนดขอบเขตของงาน การเรียน ให้สอดคล้องกับเวลาส่วนตัว และต้องมีเวลาดูแลตัวเองด้วย อย่าให้การงาน การเรียน แย่งเวลาของเราไปทั้งหมด
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นว่าภาวะนี้ไม่มียาที่จำเพาะ เมื่ออาการที่เกิดมาจากพฤติกรรม ก็ต้องแก้ไขจากการปรับพฤติกรรม หรือกระบวนการคิดที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นแต่ถ้ามีอาการอื่นๆ เช่น วิตกกังวลมาก จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาก็จำเป็นเพราะในบางกรณี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาระงับอาการวิตกกังวลในระยะสั้นๆ ตามความจำเป็น ซึ่งสามารถช่วยให้ชีวิตดำเนินไปต่อได้ดีขึ้น
ส่วนกรณีมีอาการนอนไม่หลับ อยากจะนอนก็นอนไม่ได้ แต่จะลุกทำงานก็ฝืนไม่ไหว วนเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ก่อนจะมีผลกระทบต่อการงาน หรือการเรียนมากเกินไป แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ อย่างน้อยถ้าได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว เรื่องอื่นที่ตามมาก็จะดีขึ้น
แม้ภาวะ burn out ยังไม่ใช่ความเจ็บป่วย แต่ถ้าจัดการอาการที่เกิดขึ้นไม่ดีพอ ก็อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า ดังนั้น หากผู้อ่าน และคนใกล้ชิดของคุณ มีความสงสัยเกี่ยวกับอาการ burn out และสงสัยว่าเข้าข่ายที่จะเป็น รวมถึงสงสัยความรุนแรงของอาการที่ดูมีแนวโน้มจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันแย่ลง ต้องรีบไปรับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร ถ้าหากแพทย์มีความเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ยาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ต้องใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคทางจิตเวชที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต
รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และรศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า