ใช้ยาอมแก้เจ็บคอให้ตรงกับอาการ


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : ใช้ยาอมแก้เจ็บคอให้ตรงกับอาการ

วันจันทร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 07.30 น.

    สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดประเด็นตอบโต้กันไป-มาในสังคมออนไลน์เรื่องยาอมแก้เจ็บคอ โดยมีการกล่าวว่า ถ้าเราเจ็บคอมาก แล้วไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่หมอพิจารณาอาการแล้วสั่งจ่ายเพียงยาอมแก้เจ็บคอ ตกลงมันจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ อาการเจ็บคอรวมถึงอาการไอทั้งมีหรือไม่มีเสมหะเป็นเพียงแค่อาการเจ็บ บวม แดงที่คอ เป็นอาการที่เรียกว่า อักเสบ

    อาการเจ็บคอเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย โดยทั่วไปถ้าติดเชื้อมักจะเป็นเชื้อไวรัส แล้วยังอาจเกิดจากการแพ้ เช่น แพ้ฝุ่น ควันต่างๆ การสูบบุหรี่ หรือเกิดจากมีแผลร้อนในลำคอ ในบางรายเกิดจากกรดไหลย้อนด้วย

    นอกจากนั้น ถ้าเราใช้เสียงมาก พูดทั้งวัน หรือนอนอ้าปาก ก็เจ็บคอได้เช่นกัน ส่วนอาการไอเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น เสมหะ โดยอาจไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อโรคแต่อย่างใดอาจจะเป็นเพียงฝุ่น ควัน กลิ่นฉุน ภูมิแพ้ ฯลฯ ก็ทำให้เราไอได้

    ดังนั้น การวินิจฉัยว่าผู้มีอาการเจ็บคอ หรือไอเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง จึงจำเป็นต้องซักประวัติอย่างละเอียด และดูแลรักษาตามสาเหตุ ไม่ใช่ว่าเมื่อเจ็บคอ ก็หวังจะได้แต่ยาปฏิชีวนะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์และเภสัชกรจะไม่จ่ายยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาในอนาคต แต่ถ้าคนไข้เจ็บคอ ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ ก็เป็นทางเลือกในการรักษาที่สมเหตุสมผลทางหนึ่ง และยาอมที่ว่าก็มีหลายประเภทให้เลือกใช้

    ชนิดแรกเป็นกลุ่มลูกอมช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการระคายคอ ลูกอมเหล่านี้ถือเป็นอาหาร สังเกตได้ว่ามีเครื่องหมาย อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ส่วนอีกประเภทหนึ่งจะใส่ตัวยาลงไป จึงจัดเป็นยา ซึ่งมีทั้งชนิดยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ทั่วไป กับกลุ่มที่เป็นยาอันตราย ที่จำหน่ายในร้านยา หรือต้องจ่ายโดยแพทย์

    ตัวยาที่ใส่ในยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอมีหลากหลาย ชนิดแรกคือ ยาชาเฉพาะที่ เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) ช่วยลดอาการเจ็บคอ ผู้ป่วยบางคนเมื่อเจ็บคอเวลาจะกลืนอะไรก็เจ็บมาก ยานี้ช่วยได้ดี ชนิดที่สองคือ ยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ ที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ หรือเรียกว่าantiseptic ที่ใช้กันมาก ได้แก่ ไดคลอโรเบนซิล แอลกอฮอล์ (Dichlorobenzyl alcohol) และ เอมิลเมทาครีซอล (Amylmetacresol) ชนิดที่สามคือใส่ตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในลำคอ ชุ่มคอ และรู้สึกสบายในลำคอ ได้แก่ เมนทอล และชนิดสุดท้ายที่พบในยาแผนปัจจุบันได้แก่ ยาอมที่ใส่ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่เรียกว่า ยากลุ่ม NSAIDs ตัวยาที่ใช้ในยาอมคือยาฟลอร์บิโพรเฟน (flurbiprofen) ซึ่งยาประเภทนี้ต้องจ่ายโดยแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น มีบางคนแพ้ยาในกลุ่มนี้ซึ่งเป็นอันตรายมาก จึงไม่ควรใช้มากเกินไป

    นอกจากนี้ ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ยังทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารด้วย และยังมียาอมประเภทสมุนไพร ที่ช่วยให้ชุ่มคอ ลดการระคายเคือง และช่วยขับเสมหะด้วย เช่น มะแว้ง มะขามป้อมชะเอม เป็นต้น

    ย้ำว่าการรักษาอาการเจ็บคอ ต้องดูที่สาเหตุเป็นสำคัญ และขอแนะนำให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้คอชุ่มชื้น ลดการระคายเคือง ส่วนยาอมเป็นเพียงช่วยบรรเทาอาการระคายคอ ดังนั้น ก่อนใช้ยาจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ใช้ไม่แพ้ยาที่อยู่ในส่วนประกอบของยาอมที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำพวกยาชาเฉพาะที่ หรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จึงต้องตรวจสอบหรือสอบถามเภสัชกรก่อนใช้ และในกรณีที่ฉลากยาระบุขนาดการใช้ไว้ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้บ่อยตามใจตัวเอง เพราะอาจทำให้ได้รับยามากเกินไป

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และรศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/