อาการบ้านหมุน


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : อาการบ้านหมุน

วันจันทร์ ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 06.20 น.

    อาการเวียนศีรษะเป็นหนึ่งในความผิดปกติที่พบบ่อยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่คำว่าเวียนศีรษะหรือเวียนหัวมีความหมายค่อนข้างกว้าง คือ หมายรวมถึง มึนงง วิงเวียน รู้สึกตื้อๆ ในศีรษะ บางรายมีความผิดปกติในการทรงตัว รู้สึกโคลงเคลง เหมือนสิ่งรอบตัวกำลังหมุน หรือตัวเองกำลังหมุน มีอาการตาลาย เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม บางรายที่มีอาการมากๆ อาจจะคลื่นไส้และอาเจียนได้

    ส่วนอาการเวียนศีรษะโดยไม่มีลักษณะของบ้านหมุนร่วมด้วย อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยๆ คือ อาการเมารถเมาเรือ บางคนมีอาการนี้เป็นอาการนำหรืออาการเกิดร่วมกับปวดศีรษะไมเกรน คนมีความดันโลหิตค่อนข้างต่ำ เมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถเร็วๆ เช่น นอนแล้วลุกขึ้นยืนทันที ก็อาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับหน้ามืดได้ อาการเช่นนี้ก็พบได้ในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอเช่นกัน อีกสาเหตุที่คนมักมองข้ามคือเรื่องของสายตา ค่าสายตาเปลี่ยนไปไม่ว่าจะสั้นมากขึ้น หรือยาวมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ทั้งสิ้น

    สำหรับในรายที่เวียนศีรษะร่วมกับบ้านหมุน ผู้ป่วยที่มีอาการแบบนี้ในครั้งแรกจะรู้สึกตกใจ เพราะอยู่ๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมกำลังหมุน แต่การหมุนที่ผู้ป่วยรู้สึกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยของการเวียนศีรษะประเภทนี้มักเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในและสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัว เช่น มีตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดผิดที่ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคประสาทการทรงตัวอักเสบ หรือประสาทหูชั้นในอักเสบ เป็นต้น

    ที่จริงแล้วอาการบ้านหมุนจากแต่ละสาเหตุมีลักษณะต่างกัน ที่พบบ่อยคือตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดผิดที่ ผู้ป่วยมักมีอาการในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ตอนก้มๆ เงยๆ ลุกๆ นั่งๆ เป็นต้น มักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป ส่วนกรณีที่เกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ผู้ป่วยมักเกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้นอาจนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ส่วนกรณีน้ำในหูไม่เท่ากันผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อร่วมด้วย

    อาการเวียนศีรษะทั้งแบบที่มีและไม่มีบ้านหมุนมักเป็นๆ หายๆ การรักษาหลักคือใช้ยาบรรเทาตามอาการ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมถึงจัดการที่สาเหตุ เช่น กรณีที่เกิดจากตะกอนหินปูน ถ้าเป็นบ่อย และรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาตะกอนหินปูนออก แต่ส่วนใหญ่แล้วสามารถบรรเทาอาการด้วยการขยับศีรษะและคอด้วยท่าทางเฉพาะเพื่อช่วยเคลื่อนตะกอนหินปูนกลับเข้าที่เดิม ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการสอนจากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อทำท่าทางที่ถูกต้องและปลอดภัย

    ส่วนการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากน้ำในหูไม่เท่ากัน รวมถึงสาเหตุอื่นใช้การรักษาหลัก คือใช้ยาบรรเทาอาการ ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาเม็ด dimenhydrinate 50 mg รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง เวลามีอาการ ส่วนผลข้างเคียงของยานี้คือง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น

    ยาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้รักษาอาการบ้านหมุนคือ betahistine 8-16 mgรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้งโดยขนาดยาต่อมื้อและระยะเวลาที่ต้องรับประทานแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนอาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ มวนท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น

    นอกจากใช้ยาตามแพทย์สั่งแล้วผู้มีอาการเวียนศีรษะ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการขึ้นซ้ำ ได้แก่ เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ไม่รีบร้อนทำอะไรรวดเร็วเกินไป เมื่อมีอาการเกิดขึ้นต้องรีบหยุดและนั่งพัก ระวังการลื่นล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในได้น้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มที่อาจส่งผลให้มีน้ำคั่งในร่างกายและในหูชั้นในมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอหลีกเลี่ยงความเครียด เป็นต้น

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/