ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดควรกินอะไร


รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดควรกินอะไร

วันจันทร์ ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2568, 06.00 น.

    หนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยๆ คือ ถ้าเป็นมะเร็งแล้วควรกินหรือควรเลี่ยงอาหารประเภทใดหรือไม่ คำตอบแบบกว้างๆ ก็คือ อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรกินคือ อาหารที่ถูกหลักโภชนาการ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ สะอาด และปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ได้แนะนำว่าต้องไปสรรหาอาหารใดมากินเป็นพิเศษเพื่อต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง แป้งกินได้ น้ำตาลก็กินได้โปรตีนไม่ว่าจะจากสัตว์หรือพืชก็กินได้ แต่กินในสัดส่วนที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป ส่วนอาหารที่ควรเลี่ยง อันนี้มีประเด็นคือ ส่วนใหญ่คำแนะนำหรือข้อมูลความรู้จะเน้นหนักไปทางอาหารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง อาหารที่ควรเลี่ยงถ้าไม่อยากเป็นมะเร็ง อาทิ เนื้อแดง อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารไขมันสูง อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันทอดซ้ำ แต่หากเป็นมะเร็งไปแล้ว ก็แปลว่าเรายิ่งต้องเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเหมือนกับเรามียีนกระตุ้นการเกิดมะเร็งอยู่แล้ว คนทั่วไปกินแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ดังนั้นคนที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว การเลี่ยงอาหารเหล่านี้ก็น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด

    ที่กล่าวมาข้างต้นคือการพูดกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ แต่ความจริงอาหารการกินในผู้ป่วยมะเร็งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก เราจะขอข้ามเรื่องอาหารก่อนเป็นมะเร็งไป เก็บไว้พูดกันวันหลัง เพราะประเด็นจำเพาะที่อยากเล่าในวันนี้คือ กรณีของผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายาเคมีบำบัดบางสูตรบางตัวทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร การรับรสเปลี่ยน เป็นผลทำให้ผู้ป่วยกินไม่ได้ ตัวผู้ป่วยเองก็กังวล ญาติหรือผู้ดูแลก็กังวล ผู้ป่วยเองก็อยากกินแต่กินไม่ได้ ญาติก็พยายามสรรหาสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าดีต่อสุขภาพมาให้กิน แต่ผู้ป่วยก็กินไม่ได้ ญาติบางคนไปกันใหญ่ถึงขั้นจัดแจงให้กินแต่อาหารที่คิดว่าดี พร้อมกันนั้นก็ห้ามผู้ป่วยกินสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบกินหรือยังพอกินได้ แต่คิดว่าไม่เหมาะ เช่น ห้ามกาแฟ ห้ามกินเนื้อ ให้กินแต่ผักผลไม้ ธัญพืช แถมยังพยายามไม่ปรุงแต่งเพื่อลดเค็ม ลดเกลือ ลดสารปนเปื้อนไปอีก หนักเข้าก็ต่างคนต่างเครียดซึ่งสุดท้ายไม่สงผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วย

    สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดกินไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วมาจากตัวยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร โดยทั่วไปจะมีการให้ยาเพื่อป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าคนไข้ใช้ยาถูกต้องตามแพทย์สั่งก็จะป้องกันอาการได้สัก 70-80% แต่ถ้ากินยาตามสั่งแล้วยังป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนไม่ได้ คนไข้ควรแจ้งแพทย์เพราะสามารถเพิ่มชนิด หรือขนาดยาให้สอดคล้องกับอาการของคนไข้ได้ ในส่วนของการจัดการด้วยวิธีไม่ใช้ยาเมื่อคนไข้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนคือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารมันๆ รสจัดๆ หรืออาหารที่มีกลิ่นแรง อย่ากินอาหารทีละมากๆ หรือกินจนอิ่มเกินไป แต่ควรกินทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ และอาจพิจารณาอาหารที่รสอ่อนๆ อาจจิบน้ำขิงหรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวเพื่อลดอาการคลื่นไส้ได้ และทางที่ดีก็ควรเตรียมอาหารไว้ให้พร้อมหยิบมากินได้ตลอดวัน เผื่อจังหวะไหนที่อาการคลื่นไส้ทุเลาลงก็จะได้กินได้ทันที ที่สำคัญไม่ควรฝืนใจกิน เพราะหากกินเข้าไปแล้วอาเจียนออกมาก็จะกลายเป็นภาพจำที่ไม่ดีสำหรับผู้ป่วยเอง อาจจะพานไม่อยากกินอาหารนั้นไปอีกนานเลย สรุปคือ ผู้ป่วยควรกินอาหารดีมีประโยชน์ที่พอกินได้ในเวลาที่อยากกิน ส่วนอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างที่ผู้ป่วย หรือญาติรู้สึกว่าไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ชา น้ำอัดลม ขนมหวาน ก็กินได้ปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหารด้วยแล้ว ควรให้กินในสิ่งที่ยังมีความอยากกิน

    ส่วนอาหารที่ผู้เขียนยืนยันไม่ให้กินอย่างเด็ดขาดระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดซึ่งทำให้ภูมิต้านทานของคนไข้ต่ำ ก็คืออาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ อาหารบางอย่างอาจรู้สึกว่าดีต่อสุขภาพ เช่น ผักผลไม้ แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งจะได้รับยาเคมีบำบัดและมีภูมิต้านทานต่ำ ไม่แนะนำให้กินผักสดหรือผลไม้เปลือกบาง เนื่องจากอาจล้างเอาเชื้อโรคออกได้ไม่หมด หากอยากกินก็กินผักสุก หรือผลไม้ที่ปอกเปลือกออกได้ จะปลอดภัยมากกว่า อาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกใหม่ๆ เก็บไว้ค้างคืนอาหารที่กินดิบๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ก็ไม่ควรกิน รวมไปถึงพวกอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารปิ้งย่างหมักดองต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย

    นอกจากเรื่องของอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว ยาเคมีบำบัดบางสูตรบางตัวยังสามารถทำให้เกิดแผลในปากและทางเดินอาหารได้อีก ทำให้นอกจากจะเบื่ออาหารแล้วคนไข้ยังมีปัจจัยซ้ำเติม ที่ทำให้กินได้น้อยลงเนื่องจากเจ็บแผลในปาก เมนูที่แนะนำคือ อาหารที่มีลักษณะนิ่มๆ รสอ่อนๆ กินง่ายให้สารอาหารและพลังงานสูง เช่น ซุปข้น ไข่ตุ๋น เป็นต้น

    อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรกิน หรือไม่ควรกินควรพิจารณาอย่างละเอียดว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงใดของการรักษาและกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใดอยู่ ผู้ป่วยกับญาติควรทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเลือกใช้ทางสายกลางในการดูแลสุขภาพระหว่างเจ็บป่วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความเครียดในระหว่างรักษาโรคมะเร็ง และการได้รับข้อมูลต่างๆ ตามโซเชียลมีเดียก็ดี จากผู้หวังดีก็ดี ขอให้พิจารณาก่อนและให้แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ หรือทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่จะดีที่สุด

รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และรศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึก

Leave Comment

 
 
Contact : 254 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
02-218-8257
Email: info@pharm.chula.ac.th
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับยา สุขภาพหรือนวัตกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ Line official @guruya หรือเว็บไซต์ https://www.pharm.chula.ac.th/guruya/